ที่มาของโครงการ

การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในย่านเยาวราช - เจริญกรุง

การออกแบบผลิตภัณฑ์จากกระดาษเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ ต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในย่านเยาวราช - เจริญกรุง” เริ่มกระบวนการศึกษาจากการลงพื้นที่ สำรวจบริเวณชุมชนเจริญไชย ซึ่งเป็นย่านเก่าแก่ที่ค้าขายผลิตภัณฑ์จากการพับกระดาษสำหรับไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษ ตามเทศกาลต่าง ๆ การได้พูดคุยกับคนในชุมชนทำให้ได้ทราบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ เกี่ยวข้องกับความเชื่อตามประเพณีจีนอย่างแน่นแฟ้น และมีวิถีปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งเมื่อใช้ไหว้ในพิธีกรรมต่างๆ เสร็จแล้วจะต้องนำไปเผาเท่านั้น เพื่อเป็นการส่งไปให้ถึงเทพเจ้าหรือบรรพบุรุษ หากเก็บเอาไว้ก็ถือว่าไม่ เป็นมงคลและไม่สมควร นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์จากการพับกระดาษยังมีความสัมพันธ์กับจิตใจของผู้ทำหรือผู้ที่ซื้อไปใช้อีกด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งที่ใช้ในการสักการะ จึงต้องทำให้ดีและเลือกสิ่งที่ดี จึงจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถูกประดิษฐ์ขึ้นอย่างสวยงาม ผู้ทำสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ของตนลงไปได้ หากแต่ต้องถูกต้องตามกรอบประเพณี ร้านค้าแต่ละร้านที่ขายผลิตภัณฑ์จากการพับกระดาษภายในชุมชนก็จะมีแนวทางหรือรูปแบบที่แตกต่างกันไปด้วย ซึ่งคนในชุมชนก็มีความภาคภูมิใจในผลิตภัณฑ์ของตน เพราะเป็นงานทำมือ จึงถือได้ว่าผลิตภัณฑ์จากการพับกระดาษสำหรับไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษเป็นหนึ่งในศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีน และแสดงอัตลักษ์ของชุมชนเจริญไชยได้อย่างเด่นชัด สำหรับรูปแบบการพับกระดาษที่จะนำมาออกแบบชิ้นงานนั้น ได้นำเอาดอกไม้มงคลตามความเชื่อของ ชาวไทย-จีน มาใช้ เนื่องจากดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ที่แทนความสวยงาม และใช้ในการประดับตกแต่ง จึงศึกษา ความหมายของดอกไม้มงคลชนิดต่าง ๆ และเลือกดอกไม้ที่ยังไม่ปรากฏในผลิตภัณฑ์ในชุมชนมาใช้ในการ ออกแบบ 2 ชนิด คือ ดอกโป๊ยเซียน ซึ่งหมายถึงโชคลาภ และดอกเบญจมาศ ที่มีความหมายถึง ความโชคดี เนื่องจากกระดาษที่ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์สำหรับไหว้เจ้าและไหว้บรรพบุรุษ เป็นกระดาษที่ผลิตขึ้นมา โดยเฉพาะ และมีข้อจำกัดทางความเชื่อที่ต้องนำไปเผา ทำให้การเก็บชิ้นงานไว้เป็นสิ่งที่อาจขัดกับประเพณี หรือไม่เหมาะสม แต่ในการออกแบบนี้ต้องการให้ผลิตภัณฑ์สามารถเก็บเป็นของที่ระลึกได้ จึงแก้ปัญหาด้วย การใช้กระดาษชนิดอื่นมาทดแทน โดยเลือกโทนสีและผิวสัมผัสของกระดาษให้มีความใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่พบในชุมชน ซึ่งได้ใช้เป็นกระดาษห่อของขวัญและกระดาษโปสเตอร์สีสองหน้า ส่วนรูปแบบนั้นได้รับแรง บันดาลใจจากผลิตภัณฑ์แบบแขวนที่เรียกว่า อ่วงมึ้ง (ม่าน) และก่ง (โคม) ที่มีความสวยงาม นำมาผสมผสาน เข้ากับลักษณะของเครื่องรางที่มีพู่ห้อย ซึ่งสอดคล้องกับความหมายมงคลของดอกไม้ และยังมีรูปลักษณ์ที่ แสดงถึงความเป็นจีนอย่างชัดเจนด้วย