เทคนิควิธีการและการดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในย่านเยาวราช - เจริญกรุง

ปัจจุบัน การศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่ในย่านเยาวราชและพื้นที่เกี่ยวเนื่องออกมาในรูปแบบของแผนงานหรือชุดข้อมูลจากหน่วยงานรัฐที่สำคัญ ได้แก่ การดำเนินงานของสำนักผังเมือง – กรุงเทพมหานคร ตัวอย่างเช่น โครงการอาคารที่มีคุณค่าในพื้นที่ต่อเนื่องกรุงรัตนโกสินทร์ฝั่งตะวันออก (สำนักผังเมือง : 2560ก) แนวทางการปรับปรุงฟื้นฟูชุมชนริมคลองรอบกรุงและพื้นที่ต่อเนื่อง (สำนักผังเมือง : 2560ข) แนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูบริเวณตลาดน้อยและพื้นที่ต่อเนื่อง (สำนักผังเมือง : 2560ค) และโครงการรักษ์ "เจ้าพระยา" (สำนักผังเมือง : 2560จ) ทุกโครงการมุ่งเน้นการศึกษาพื้นที่ในเชิงผังเมืองและด้านกายภาพเป็นหลัก ตัวอย่างสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ การจัดทำแผนที่ภูมิทัศน์วัฒนธรรม "ตรอกบ้านพานถม” (สำนักผังเมือง : 2560ง) เป็นการทำแผนที่ย่านตรอกบ้านพานถม ซึ่งในโครงการมีการกำหนดสถานที่เพิ่มเติมจากอาคารเก่าและศาสนสถาน คือ ร้านอาหาร และโครงการย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ (มหาวิทยาลัยศิลปากร : 2560) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นแผนการพัฒนาการปรับปรุงพื้นฟูเมือง ภายใต้แนวคิดว่าพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เต็มไปด้วยแหล่งงานสร้างสรรค์ (Creativity) ศิลปะ (Art) วัฒนธรรม (Culture) การพัฒนาเมืองและชุมชนไปสู่การสร้างนวัตกรรมหรือใช้นวัตกรรมอันจะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคม

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาพื้นที่ย่านชุมชนเยาวราช และพื้นที่เกี่ยวเนื่องให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านกายภาพของเมืองโดยเฉพาะผังเมืองและอาคาร ปรากฏเป็นแผนงานและข้อมูล ผู้ใช้งานในแผนคือหน่วยงานรัฐเป็นหลัก ยังขาดการประสานความร่วมมือแบบบูรณาการโดยเฉพาะกับชุมชนและเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การเก็บข้อมูลยังไม่ครอบคลุมมรดกวัฒนธรรมสำคัญของพื้นที่ทั้งหมด ยังขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดแผนที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเชิงพื้นที่

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แนวทางการใช้กิจกรรมด้านศิลปะร่วมสมัยเพื่อพัฒนาพื้นที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นโดยเอกชน โดยเฉพาะพื้นที่เยาวราชและริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ศิลปะสตรีทอาร์ท “Bukruk” นำศิลปินกราฟิตี้สร้างผลงานกระจายตามจุดต่าง ๆ เพื่อเป็นจุดหมายให้นักท่องเที่ยวเดินกระจายทั่วบริเวณย่านมากขึ้น งาน Bangkok Design week 2019 ย้ายพื้นที่แสดงงานออกจากแกลลอรี่ ไปสู่พื้นที่ของสาธารณะและพื้นที่ของผู้อยู่อาศัยรอบบริเวณงาน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มนักกิจกรรมรวมทั้งกลุ่มจากสถาบันการศึกษาผู้ขับเคลื่อนการใช้ศิลปะเพื่อพัฒนาชุมชน เช่น งานศิลปะชุมชนสามแพร่งโดยกลุ่ม ดินสอสี งานบางมดเฟส โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โครงการศิลป์ในซอยย่านกุฎีจีน โดย UDDC ทั้งหมดนี้มีจุดหมายเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและพัฒนาย่านอย่างยั่งยืนโดยได้รับความร่วมมือจากภาคีภายในชุมชนและภาคีภายนอกอีกด้วย กระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและภาครัฐ ยังสามารถสร้างผลผลิตทางศิลปะที่สามารถประโยชน์ใช้สอยและถาวรวัตถุได้อีกด้วย เช่น ฝาท่อระบายน้ำของประเทศญี่ปุ่น ในแต่ละเมืองจะแสดงอัตลักษณ์และสิ่งสำคัญของเมืองนั้น ๆ กระบวนการออกแบบและการคัดเลือกจะต้องได้รับการเห็นชอบจากคนในชุมชนก่อนจะมีการผลิตจริง ในโครงการวิจัย “การออกแบบประติมากรรมบนพื้นที่สาธารณะกับการมีส่วนร่วมกับชุมชน” บริเวณริมคลองโอ่งอ่าง โดยจักรพันธ์ วิลาสินีกุล ก็เช่นเดียวกัน ได้เริ่มต้นสำรวจรูปแบบทางศิลปะที่ปรากฏอาคารและเรื่องราวท้องถิ่น นำมาใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบผลงานที่แสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของคนในชุมชน โดยอาศัยความมติจากชุมชนเป็นหลักในการเลือกชิ้นงานที่จะติดตั้งในบริเวณชุมชน เพื่อทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของรูปแบบศิลปะที่จะอยู่ร่วมกันกลมกลืนกับกิจกรรมของคนในชุมชน

การทบทวนเรื่องการพัฒนาพื้นที่เมืองโดยการปกป้องและพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม พบว่ามีความจำเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้


1.ด้านเศรษฐกิจ การใช้ต้นทุนมรดกวัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจ โดยเข้าใจในจุดเด่นของเมือง เช่น เมื่อนึกถึงการเรียนรู้ ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเมืองอ๊อกฟอร์ด เมื่อคิดถึงศาสนา ผู้คนส่วนใหญ่จะคิดถึงเมืองเยซูฮาเร็ม เป็นต้น เมื่อมีจุดเด่นหรือเข้าใจในมรดกวัฒนธรรมอันเป็นตัวตนของพื้นที่จึงเกิดการเยี่ยมเยือนจากผู้คนในถิ่นอื่น ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน และการท่องเที่ยวในแหล่งมรดกวัฒนธรรม ในเชิงเศรษฐกิจการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกของเมืองให้มีชีวิตชีวาจากการสร้างสรรค์ จะทำให้มูลค่าของทรัพย์สินมรดกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการเคลื่อนไหวของผู้คนและธุรกิจตามมารวมทั้งการบ่มเพาะธุรกิจขนาดย่อม และส่งผลให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินบนที่ดิน โดยเฉพาะในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียงกับศูนย์กลางของแหล่ง

2.ด้านสังคม ความเป็นลักษณะเฉพาะตัวทั้งจากประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมที่สะท้อนออกมาในพื้นที่ตามอาคาร ภูมิทัศน์ อาชีพ ความเชื่อ หัตถกรรม อาหาร ฯลฯ เมื่อชุมชนทราบถึงความสำคัญและความหมายจึงเป็นภาคภูมิใจของชุมชนในพื้นที่และเป็นอัตลักษณ์ของเมือง การสนับสนุนทุนทางมรดกวัฒนธรรมเหล่านี้ให้ดำรงอยู่ในภาวะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลง เช่น การต่อยอดให้เกิดช่างฝีมืออย่างต่อเนื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน กิจกรรมทางศิลปะชุมชน จึงเป็นการสนับสนุนความยั่งยืนทางสังคม และเป็นการต่อยอดให้เกิดการดำรงมรดกวัฒนธรรมของชุมชนเอาไว้

3.ด้านสิ่งแวดล้อม มรดกวัฒนธรรมเมืองในพื้นที่ถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมค่าโดยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมทั้งปัญหาจากมลพิษจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวก่อให้เกิดการทำลายมรดกอย่างไม่รู้ตัว การอยู่สบายโดยเฉพาะในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาพื้นที่เมือง

การศึกษาวิจัยในหัวข้อ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในย่านเยาวราช - เจริญกรุง” เป็นการวิจัยแบบผสานผสาน (Mix Methodology) ระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เพื่อตอบวัตถุประสงค์การวิจัยที่กำหนดไว้ด้วยวิธีการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการจากการศึกษาเอกสารและงานวิจัย (Documentary Analysis) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) การสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group Discussion) และการจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้และการจัดเวทีสาธารณะให้เกิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

ขั้นตอนการศึกษา การเก็บรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์


รวบรวมข้อมูลจากเอกสารประวัติศาสตร์ โบราณคดี ทั้งจากพระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุ เอกสารราชการ ตำรา หนังสือ งานวิจัย บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงแผนที่โบราณ แผนผังโบราณ ภาพถ่ายโบราณ เพื่อให้เข้าใจรากฐานความเป็นมาของพื้นที่ ย่าน และชุมชน ร่วมพูดคุยชุมชน นักประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น ปราชญ์ชุมชน ผู้สูงอายุในเยาวราช กลุ่มตัวอย่าง ผ่านการการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย โดยให้คนในชุมชนได้มีโอกาสทบทวนเรื่องราวความเป็นมาของตน และเล่าเรื่องความทรงจำผ่านการระดมความคิดจากคนในชุมชน เพื่อค้นหาความเป็นมารากฐานของพื้นที่ ย่านและชุมชน และทุนด้านศิลปะและวัฒนธรรม

สำรวจพื้นที่ ย่าน และชุมชน เพื่อค้นหาความหมาย ความเป็นมา และอัตลักษณ์ของย่าน พื้นที่และชุมชน และทุนด้านศิลปะและวัฒนธรรม

นำข้อมูลต่าง ๆ โดยเฉพาะความเข้าใจรากฐานความเป็นเยาวราชและทุนศิลปะและวัฒนธรรมของพื้นที่ นำมาทดลองพัฒนาในด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยผ่านการวางแผน การทดลองออกแบบเวทีกิจกรรมในเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ในการจัดการทุนด้านพื้นที่และกิจกรรมเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่อาศัยของคนในชุมชน และออกแบบกระบวนการถ่ายโอนความรู้แก่ภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมในพื้นที่และการสื่อสารสู่บุคคลภายนอก ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ

การทดลองใช้ทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนากิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับย่าน ใต้เป้าหมายการวิจัยทั้ง 4 ด้าน ในรูปแบบร่วมกับภาคีเครือข่าย ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบมีส่วนร่วม และติดตามผลกิจกรรมทดลองที่สร้างขึ้น ศึกษาผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อหากลไกการพัฒนา

การวิเคราะห์และสรุปผล


ในทุกขั้นตอนของการศึกษาวิจัย จะผ่านการสังเกตการณ์ ประเมินผล และทบทวนประสบการณ์ การทำงานในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อสรุปผลในการวิจัย และเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงหรือการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยในอนาคต